28.1.51

7 วิธีลดอาการ เจ็บหัวนม-หัวนมแตก

เรื่องราวของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงเดินทางไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีแม่มือใหม่แวะเวียนเข้ามาในแวดวงของคุณแม่อยู่เสมอ ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงต้องมีการบอกกล่าวเล่าขานกันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตก เป็นอาการที่อาจจะทำให้คุณแม่หลายคนหมดความอดทนที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เลยก็มี ฉบับนี้จากอกแม่จึงมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกค่ะ
1. ให้ลูกดูดนมแม่ในท่าที่ถูกต้องควรจำไว้ว่าจมูก แก้ม และคางของลูกควรสัมผัสกับเต้านม ริมฝีปากของลูกควรแบะออกเหมือนปลา
2. ถ้าเต้านมของคุณแม่คัด ให้บีบน้ำนมออกมานิดหน่อยเพื่อให้เต้านมนิ่มขึ้น
3. เริ่มให้ลูกดูดนมจากข้างที่เจ็บน้อยที่สุดก่อน ถ้าทั้งสองข้างเจ็บเหมือนกัน ให้เอาผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบและนวดเต้านมเบาๆ เพื่อให้น้ำนมเริ่มไหลออกมา
4. ถ้าจำเป็นต้องให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นทุก 1-2 ชั่วโมง ควรลดเวลาที่จะดูดให้สั้นลงเหลือประมาณ 10-15 นาทีหรือจนกว่าเต้านมจะนิ่ม
5. อุ้มลูกให้กระชับกับหน้าอกเพื่อไม่ให้ลูกดึงหัวนม และอย่าลืมลดแรงดูดของลูกออกก่อนที่จะเอาหัวนมออกจากปากลูก
6. ไม่ต้องล้างหัวนมก่อนให้ลูกดูดนม เพราะการล้างด้วยน้ำเปล่าบ่อยๆ สามารถทำให้ผิวแห้งได้
7. หลังการให้นมลูกทุกครั้งบีบน้ำนมเหลือหรือน้ำนมแม่ทาบนลานนมและหัวนมทั้งสองข้าง แต่ถ้าอยากให้ผิวชุ่มชื้นคุณแม่อาจใช้ลาโนลินเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว อย่าใช้สบู่ ครีม หรือน้ำมันนะคะ
เทคนิคการบีบนมแม่
ระวังเรื่องความสะอาด ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเสมอ
หามุมสงบ ผ่อนคลาย จะช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำนม
นวดเต้านมเป็นวงกลมไปรอบๆ ตามด้วยการบีบเบาๆ เริ่มจากบริเวณขอบนอกของเต้านมเข้ามายังบริเวณหัวนมแม่อาจประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำร้อน 3-5 นาที ก่อนนวดเต้านม จะทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น
กระตุ้นหัวนมเบาๆ โดยการใช้นิ้วดึงและคลึงหัวนม
บีบน้ำนมออก โดยใช้นิ้วหัวแม่มือวางบนลานหัวนมด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือวางด้านตรงข้าม กดเข้าหาทรวงอกก่อนแล้วค่อยๆ บีบนิ้วเข้าหากัน น้ำนมแม่จะไหลออกมา
ทำซ้ำใหม่ กด-บีบ-ปล่อย เป็นจังหวะไปรอบๆ โดยย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วไปบริเวณรอบเต้านม เพื่อให้น้ำนมไหลออกจากกระเปาะน้ำนมทุกอัน
เก็บใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ทำความสะอาดภาชนะสำหรับใส่น้ำนมให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้
เมื่อบีบน้ำนมเสร็จแล้ว ให้ใช้น้ำนม 2-3 หยด ป้ายหัวนมแต่ละข้าง ปล่อยให้แห้ง แล้วจึงใส่ยกทรง
หากมีอาการรุนแรงอย่างหัวนมแตกหรือมีเลือดไหลควรปรึกษาสูติแพทย์ผดุงครรภ์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญขอรับคำแนะนำที่ถูกต้อง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องให้ลูกดูดนมต่อ หรือบางครั้งต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อระงับการอักเสบติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้แต่เพียงแค่ช่วง 3-4 วัน เท่านั้นแล้วทุกอย่างก็จะกลับเป็นปกติเหมือนเดิม ไม่ต้องกังวลค่ะ


ที่มา..นิตยสารบันทึกคุณแม่

ไม่มีความคิดเห็น: