28.1.51

4 เรื่องยอดฮิตของแม่ตั้งครรภ์

อาการเหล่านี้เป็นอาการที่แม่ตั้งครรภ์ต้องเจอะเจอทุกคน เพราะเมื่อคนเราตั้งครรภ์สิ่งต่างๆ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่สรีระอารมณ์รวมถึงฮอร์โมน สิ่งเหล่านี้จะแปรปรวนไปหมด แต่ก็ไม่เรื่องร้ายแรงและอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อคุณได้คลอดลูกออกมาแล้วนั่นเอง
1. อาการชาที่ปลายนิ้ว ชาที่ปลายนิ้วขณะตั้งครรภ์ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในขณะตั้งครรภ์ทั่วๆ ไปซึ่งคุณแม่ไม่ต้องตกใจนะคะ เกิดเนื่องจากเส้นประสาทซึ่งในยามปกติเส้นประสาทจะผ่านช่องมาที่ข้อมือได้อย่างสบาย แต่ในขณะตั้งครรภ์ร่างกายจำนวนมากโดยเฉพาะในเดือนที่ 7 และ 8 ของการตั้งครรภ์ จะมีน้ำในร่างกายสูงสุดทำให้เนื้อเยื่อบวมน้ำเพิ่มขึ้น จนช่องหรืออุโมงค์ที่ข้อมือแคบลง ทำให้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณมือกดทับ จากเนื้อเยื่อที่บวมจนรู้สึกชาที่บริเวณปลายนิ้วได้ เมื่อถึงหลังคลอดสักระยะ พออาการบวมลดลง ช่องที่บริเวณข้อมือก็จะกลับมากว้างเหมือนเดิม อาการชาก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้ง ถ้าชามากไม่สามารถทำงานได้ ให้บรรเทาด้วยแช่น้ำอุ่น เพื่อให้การหมุนเวียนของเลือดบริเวณฝ่ามือและข้อมือดีขึ้นจะได้ยุบบวมลง หรือช่วยนวดบริเวณข้อมือและฝ่ามือบ่อยๆ ก็จะทำให้อาการชาดีขึ้น
2. เป็นตะคริว อาการตะคริวเกิดจากกล้ามเนื้อหดตัวขึ้นมาทันทีทันใด โดยมากมักจะเป็นกล้ามเนื้อบริเวณปลายเท้า มักจะเกิดเวลากลางคืน ถ้าเป็นกล้ามเนื้อบริเวณน่อง จะรู้สึกปวดกล้ามเนื้อนั้นมาก บรรเทาอาการปวดโดยเหยียดขาให้ตรง แล้วดึงปลายฝ่าเท้าเข้าหาตัวคุณ จะทำให้กล้ามเนื้อน่องนั้นคลายตัวแต่อย่านวดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว เพราะจะทำให้ปวดมาก เพียงยืดกล้ามเนื้อดังกล่าวสักครู่หนึ่ง กล้ามเนื้อน่องก็จะคลายตัวเอง ในกรณีที่เกิดตระคริวบริเวณปลายเท้า ให้นวดบริเวณนั้น เพื่อให้เลือดเกิดการถ่ายเท และให้เกิดความอบอุ่นขึ้น จะทำให้อาการตะคริวหายเร็วขึ้นและบางทีก็เชื่อว่าการทานนมหรือทานแคลเซียมจะช่วยลดอาการตะคริวได้ด้วย
3. มีเส้นเลือดขอดมาก เส้นเลือดดำบริเวณขาใกล้ผิวหนังจะโป่งพงขึ้นมา เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้เส้นเลือดดำบริเวณนี้โป่งพองมากขึ้นและถ้ามีอาการยืนนานๆ เช่น เป็นเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ หรือเป็นพยาบาลที่จ้องเดินไปเดินมาทั้งวัน จะมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดง่ายกว่าอาชีพอื่น จึงควรป้องกันและรักษาโดยใช้หลักเดียวกันคือ หาทางนั่งลงเมื่อมีโอกาสแล้วยกเท้าทั้งสองข้างพาดกับเก้าอี้อีกตัวหนึ่งให้สูงกว่าบริเวณก้นเล็กน้อยเพื่อให้เลือดบริเวณปลายเท้าไหลกลับสู่ร่างกายให้สะดวกยิ่งขึ้น หรือจะสวมถุงน่องที่รัดรอบเท้าแน่น หรือจะใช้ผ้าพันปลายเท้ามาบริเวณหัวเข่าในกรณีที่เส้นเลือดขอดนั้นโป่งและปวด ก็จะช่วยได้ค่ะ
4. ขาบวม เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นประมาณราวเดือนที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ขึ้นไป รกและรังไข่จะมีการสร้างฮอร์โมนบางชนิดเพิ่มขึ้นและมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้เกิดการคั่งของน้ำและเกลือได้ง่ายกว่าปกติ เมื่อมีการคั่งเกิดขึ้นจะทำให้ขาของคุณตึง บวม และปวดถ้าต้องยืนนานๆ จะทำให้ขาบวมมากขึ้น การคั่งของน้ำและเกลือนี้อาจจะทำให้ความดันโลหิตของคุณสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ควรให้หมอตรวจร่างกายโดยละเอียด ถ้ามีความดันโลหิตสูงจริง จะต้องพักผ่อนมากขึ้นและในบางคนถ้าความดันโลหิตสูงและอาจตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ จะเข้าข่ายของอาการโรคครรภ์เป็นพิษ จึงควรรีบควบคุมการทานอาหาร น้ำและเกลือ เมื่อน้ำหนักตัวขึ้นเร็วกว่าเกณฑ์ปกติ เช่น น้ำหนักขึ้นสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม การหมั่นชั่งน้ำหนักตัวในระยะนี้จะช่วยป้องกันการบวมได้เช่นกัน
ทราบอาการแล้วก็ อย่ากังวลค่ะ ดูแลร่างกายให้แข็งแรงและจิตใจให้แจ่มใส เพื่อลูกในท้องจะได้เป็นเด็กที่มีอารมณ์ดีและไม่งอแงมากจนแม่หนักใจค่ะ



ที่มา..นิตยสารรักลูก

ไม่มีความคิดเห็น: