27.1.51

อยู่ไฟ-ภูมิปัญญาไทยสำหรับแม่

2-3 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวที่ฮือฮาในวงการ “คุณแม่” ทั้งหลาย ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ข่าวนั้นก็คือข่าวการอยู่ไฟภายหลังการคลอดของบรรดาคุณแม่ ที่มีบริษัทฯ เข้าไปรับจัดการ กล่าวคือ ให้บริการถึงบ้าน เรียกว่า อยู่ไฟเดลิเวอรี่

พูดถึง “การอยู่ไฟ” คุณแม่สมัยใหม่อาจจะยังงงๆ อยู่ จริงๆ แล้ว การอยู่ไฟเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีมาแต่อดีต เป็นความรู้ทางด้านการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของคุณแม่ภายหลังการคลอดให้มีสุขภาพที่ดีดังเดิมโดยเร็วที่สุด เพราะถือว่า การคลอดลูกเป็นภาวะที่อันตรายที่สุดในชีวิตของผู้เป็นแม่

การอยู่ไฟถือเป็นการดูแลสุขภาพ ของผู้เป็นแม่ เพราะการอยู่ไฟจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นหรือพูดอีกอย่าง ก็คือการอยู่ไฟช่วยให้มดลูกกลับเข้าสู่สภาพปกติ เนื่องจากก่อนคลอด สรีระของผู้เป็นแม่ เกือบทุกส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลง กระดูก ข้อต่อจะ เคลื่อนขยาย การใช้ความร้อนในการอยู่ไฟ จะช่วยให้ร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติเร็วขึ้น ที่สำคัญการอยู่ไฟจะช่วยให้บาดแผลที่เกิดจากการคลอดปิดสนิทได้ด้วยการนอนเฉยๆ ภายใน 3-5 วัน เพราะการอยู่ไฟจะทำให้ เหงื่อออกส่งผลให้ร่างกายของผู้เป็นแม่ ที่บวมน้ำอยู่ลดลง อาการปวดเมื่อยร่างกายภายหลัง การคลอดบุตรจะทุเลาลงโดยเร็ว

เพราะเห็นถึง ความสำคัญของภูมิปัญญาไทยเรื่องการอยู่ไฟ จึงได้มีผู้คิดการให้บริการนี้ถึงที่ ซึ่งก็ปรากฏว่าคุณแม่นิยมใช้บริการกันอย่างกว้างขวาง
ธุรกิจการให้บริการการอยู่ไฟถึงบ้านเป็นอย่างไร คุณคันถ์ชิต วณิชดิลกกุล เขียนไว้ ในเรื่อง “อยู่ไฟเดลิเวอรี่” คอลัมน์ “ทำมาค้าคล่อง” นิตยสารขวัญเรือน ปีที่ 36 ฉบับที่ 787 ปักษ์แรก กันยายน 2547 ความตอนหนึ่งว่า “เมื่อถึงบ้านลูกค้า พนักงานจะผูกกระโจมที่มีลักษณะคล้ายกับกลดพระ สูงประมาณ 3 เมตร ที่ทำจากผ้าดิบ จากนั้นจะปูที่นอนให้นอน เพื่อนวดผ่อนคลายประมาณ 20 นาที แล้วใช้ผงอาบน้ำสมุนไพรของโครงการดอยน้ำซับนำมาต้ม

และผสมกับน้ำธรรมดาให้อุ่นแล้วนำมาให้อาบหรือใส่ในอ่างอาบน้ำ ลงไปแช่ในอุณหภูมิน้ำค่อนข้างร้อนพอทนได้ โดยแช่ประมาณ 10-15 นาที (ไม่ควรสระผมด้วยน้ำเย็นให้ใช้น้ำอุ่นสระผมแทน) ต่อจากนั้นก็เช็ดตัวให้แห้ง และเริ่ม กิจกรรมต่อ โดยการนาบหม้อเกลือ ใช้เกลือ ใส่ลงในหม้อดินประมาณ 1 ใน 3 ส่วน ของขนาดหม้อ ตั้งไฟให้ร้อนประมาณ 20 นาที สังเกตได้ว่าเกลือจะแตกดังเปรี๊ยะๆ ให้ยกหม้อเกลือวางลงบนใบพลับพลึงที่รองด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่ง (ใบพลับพลึงจะต้องอยู่บนผ้า) รวบผ้าขึ้นผูกให้แน่นพอมีที่จับ พนักงานจะนำหม้อเกลือที่ผูกผ้าแล้ววางลง บนหน้าท้อง ความร้อนจะค่อยๆ ซึมลงบน หน้าท้อง แล้วจึงค่อยๆ เลื่อนตำแหน่งไปให้ทั่วบริเวณหน้าท้อง เอว หลัง ต้นขา และสะโพก ซึ่งต้องระมัดระวังความร้อน ในช่วงที่ยกออกจากเตาใหม่ๆ จะร้อนมาก การนาบหม้อเกลือจึงต้องอาศัยความชำนาญของพนักงาน

เมื่อระดับความร้อนของหม้อลดลง จึงหยุดทำ(กระบวนการนาบหม้อเกลือใช้เวลาประมาณ 30 นาที) หลังจากนั้นจะเป็นการประคบด้วยการใช้ลูกประคบ 2 ลูกที่ถูกนึ่งแล้วประมาณ 15-20 นาที ใช้ผ้าจับลูกประคบ ค่อยๆ นำมาประคบหน้าท้อง หลัง และต้นขา จากนั้นจะประคบด้วยลูกงา เพื่อเติมความชุ่มชื่นให้ผิวหนังซึ่งเป็นสูตรข องโครงการดอยน้ำซับโดยเฉพาะ พอเสร็จจากการประคบจะต่อด้วยการอบสมุนไพร พนักงานจะต้มสมุนไพร ลงในหม้อไฟฟ้า โดยสมุนไพรต่างๆ จะประกอบไปด้วย ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ เถาเอ็นอ่อน ใบมะกรูด ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย มหาเมฆ และว่านชักมดลูก

เมื่อสมุนไพรเดือดจะวางไว้ใต้เก้าอี้ ผู้ที่อบจะนั่งอยู่บนเก้าอี้ภายในกระโจมประมาณ 20 นาที โดยควันและกลิ่นจะรมตัวเพื่อขับของเสียออกทางเหงื่อและช่วยสมานแผลที่เกิดจากการผ่าท้องคลอด จากนั้นจึงออกมาดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว รอจนตัวแห้งจึงอาบน้ำ เมื่ออาบน้ำเสร็จเรียบร้อยดีแล้วให้นำว่านชักมดลูกมาต้มให้เดือด ทิ้งไว้ให้อุ่นแล้วนำมาดื่มหลังอาหารเช้า-เย็น ครั้งละ 1 แก้ว ใช้เวลาในการทำเฉลี่ยแล้ว กว่า 4 ชั่วโมง จึงเสร็จทุกขั้นตอน และต้องทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 7 วัน ซึ่งทั้งขั้นตอนและวิธีการ สามารถปรับประยุกต์ได้”

การอยู่ไฟของคนไทยในสมัยก่อนมีความสำคัญอย่างไร “อยู่ไฟ”
เพื่ออะไร มีกรรมวิธีอย่างไร เรื่องนี้สอดคล้องกับการแพทย์สมัยใหม่อย่างไร หลายคนคงอยากรู้คำตอบ  น.พ. เอกชัย ปัญญาวัฒนานุกูล เรียบเรียงเรื่อง “อยู่ไฟหลังคลอด สอดรับแพทย์สมัยใหม่” ในหน้าสุขภาพ น.ส.พ. ฉบับวันพุธ ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ความตอนหนึ่งมีดังนี้ “ในอดีต…หลังคลอดบุตรแล้ว สามีและคนอื่นๆ จะช่วยกันเตรียมเตา สำหรับอยู่ไฟ โดยนำต้นกล้วยที่ผ่าครึ่งวางบนแคร่แล้วเอาดินโรยก่อนจะจุดไฟ เรียกว่า “ทอดเตาไฟ” แล้วให้หญิงคลอดบุตรนอนด้านข้างเตา แต่คนไทยบางกลุ่มใช้วิธีย่างไฟ คือ นอนบนแคร่ และนำเตาไฟ 2-3 เตา วางอยู่ใต้แคร่ ซึ่งจะพบได้ในแถบภาคอีสาน และชาวญวน ก่อนจะอยู่ไฟต้องมีการดับพิษไฟ โดยหมอจะเคี้ยวข้าวสารกับเกลือเสกคาถา แล้วเป่าพ่นลงที่ท้องของหญิงคลอดบุตร เพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อนของการอยู่ไฟ ซึ่งอาจเสริมกำลังใจและลดความร้อนลงได้บ้าง ก่อนขึ้นนอนบนกระดานไฟ ต้องมีการ “เข้าขื่อ” ก่อน คือ นอนตะแคงให้หมอตำแยเหยียบสะโพก เพื่อให้กระดูกเชิงกรานที่คราก ได้กลับเข้าที่ (พ.ญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ดุลยภาพบำบัด เคยกล่าวไว้ว่า วิธีการนี้จะช่วยป้องกันปัญหาของโครงสร้างกระดูกสันหลังที่จะผิดปกติ ตามมาในอนาคต และเป็นสาเหตุเริ่มต้นของการเจ็บป่วยในหลายๆ โรค) ผู้อยู่ไฟต้องนุ่งเตี่ยวหรือผ้าถุง มีขมิ้นกับปูนแดงผสมเหล้า เอาสำลีชุบปิดสะดือ และทาท้อง-หลังไว้เสมอ เพื่อดับพิษร้อนและรักษาร่างกาย นอกจากนี้ ยังมียาโรยบนถ่านไฟสำหรับรมตา ป้องกันตาแฉะ ตาอักเสบ และมีน้ำโอ่งหรือไหนึ่งตั้งไว้ข้างเตา เมื่อไฟในเตาลุกลาม มากเกินความต้องการ จะได้ตักน้ำราดดับไฟเพื่อไม่ให้ความร้อนมากเกินไปและยังใช้น้ำนั้นดื่มได้ด้วย อาหารของผู้ที่อยู่ไฟ จะกินข้าวกับปลาแห้งหรือกินข้าวกับเกลือ บางวันมีแกงเลียงเสริมเพื่อเพิ่มน้ำนมแม่ การกินข้าวผสมเกลือมีประโยชน์ เพราะในการอยู่ไฟความร้อนจะทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก ทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปได้ หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่เชื่อว่าจะทำให้แสลง เช่น อาหารที่ย่อยยากหรือคาวจัดรสจัด นอกจากนี้ ยังต้องกินยาตำรับแก้โลหิตเป็นพิษจนกว่าจะออกไฟ

มดลูกเข้าอู่ระหว่าง 3-7 วันหลังคลอด หมอตำแยจะมาฝืนท้องให้ทุกวัน คือ เอามือกด-ดันตรงหัวเหน่า เพื่อช้อนให้มดลูกเข้าอู่ แล้วคลึงที่หัวเหน่าให้ปากมดลูกหดเข้าที่ เรียกว่า “การกล่อมมดลูก” ตอนกล่อมมดลูกจะมีน้ำคาวปลาทะลักออกมา ทำให้ผู้ที่อยู่ไฟรู้สึกสบาย นอกจากนี้ก็มีการเข้ากระโจม นาบหม้อเกลือ และนั่งถ่าน การเข้ากระโจม ก่อนเข้าให้เอาว่านนางคำ ฝนหรือตำ คั้นเอาน้ำผสมกับเหล้าและการบูร ทาตัวผู้ที่อยู่ไฟ กระโจมมักทำด้วยซี่ไม้ไผ่ทำเป็นโครงเหมือนมุ้งประทุน เอาผ้าคลุมให้มิดชิด ต่อท่อจากหม้อต้มยาเข้าในกระโจม ตำรับยาที่ใช้ต้ม ประกอบด้วยเปลือกส้มโอ ใบส้มป่อย ว่านน้ำ ตะไคร้ มะกรูด ผักบุ้งล้อม และเกลือ เป็นต้น เพื่อบำรุงผิว กันฝ้าและน้ำเหลืองเสีย ประมาณครึ่งชั่วโมง การประคบตัว ใช้ว่านนางคำ ไพล ขมิ้นอ้อย ใบมะขาม ใบส้มป่อย ตำแล้วเคล้ากับเกลือ นำไปห่อทำเป็นมัด แล้วไปแช่น้ำต้มยาที่ใช้ในการเข้ากระโจม ที่เหลืออยู่ ประคบตามตัวและเต้านม และนั่งทับลูกประคบ เพื่อลดอาการเจ็บ ปวดและคัดเต้านม ทำทุกวันกระทั่งออกไฟ การนาบหม้อเกลือ เอาเกลือใส่ลงในหม้อตาลที่มีฝาปิด ตั้งไฟเผาจนร้อนจัดให้เกลือในหม้อตาลมีเสียงระเบิดแตกเพียะพะ จึงยกหม้อเกลือวางบนใบละหุ่งหรือใบพลับพลึง แล้วเอาผ้าห่อหม้อตาลที่รองด้วยใบพลับพลึง นำไปนาบบริเวณหัวเหน่า ทำวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้ามืดและบ่ายทำอย่างน้อย 3-4 วัน เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ เร็วขึ้น การนั่งถ่าน ใช้ผิวมะกรูดตากแห้ง ว่านน้ำ ว่านนางคำ ไพล ขมิ้นอ้อย ชานหมาก ชะลูด ขมิ้นผง ใบหนาด นำมาหั่นให้ละเอียด แล้วเอาไปตากแดด เวลาใช้ให้หยิบทีละหนึ่งหยิบมือโรยบนเตาไฟขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดควันลอยขึ้นรมก้นของผู้ที่อยู่ไฟเพื่อสมานแผลบริเวณฝีเย็บ จะเห็นว่ากระบวนการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ไม่ต่างจากสูติแพทย์ที่ต้องการป้องกันอาการแทรกซ้อนหลังคลอด คือ การตกเลือด และการติดเชื้อหลังคลอด

การกล่อมมดลูก การนาบหม้อเกลือ เพื่อให้มดลูกหดรัดตัวดีและเร็วขึ้น ป้องกันการตกเลือดและอาการกระเพาะปัสสาวะครากได้ การนั่งถ่าน โดยใช้สมุนไพรรักษาและสมานแผลป้องกันการติดเชื้อการเข้ากระโจม การประคบตัว เพื่อให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น และลดการบวมจากปริมาณน้ำและเลือดที่เพิ่มขึ้นมากในระหว่างตั้งครรภ์ สรุปแล้ว กระบวนการที่ใช้ในการอยู่ไฟของหญิงหลังคลอดบุตรมีประโยชน์ต่อมารดาและทารก ไม่ขัดแย้งและส่วนใหญ่สอดคล้องกันในทางการแพทย์ มีข้อควรระวังอยู่บ้างในกรณีความร้อน อย่าให้มากเกินจนเกิดอันตรายต่อผิวหนัง หรือทำให้อ่อนเพลียมากจากการเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป การงดอาหารแสลงมากเกินควรจนทำให้ขาดอาหาร เป็นต้น” ว่าไปแล้ว ภูมิปัญญาเรื่องการอยู่ไฟหลังคลอดของคนไทย มีกรรมวิธีประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทุกภูมิภาคของเมืองไทย จุดประสงค์ก็เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของแม่ภายหลังคลอด เพียงแต่รายละเอียดในการปฏิบัติอาจจะแปลกแตกต่างกันออกไปบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาถึงความเชื่อ ความรู้ ความคิด และแนวปฏิบัติเหล่านั้นว่ายึดถือปฏิบัติกันอยู่อย่างไร เพื่อว่า หากใครสนใจจะนำไปยึดถือปฏิบัติ จะได้นำไปปรับใช้ในชีวิตปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารรายปักษ์คู่สร้าง-คู่สม ปีที่ 27 ฉบับที่ 518 ประจำเดือน มกราคม พ.ศ. 2549

ไม่มีความคิดเห็น: